TH  |  EN

การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1/2565 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

   ห้องประชุมชั้น 1 ตึกหอสมุดส่วนพระองค์วังสระปทุม: วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวาระการประชุม เป็นการติดตามและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิฯ รวมถึงพิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2565 รวม 12 โครงการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป

   ในการทำงานมีคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนที่กำหนด และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ประสานงานในภาพรวมของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิฯ

   โครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มีรูปแบบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนากำลังคน (2) ด้านการวิจัย และ (3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิต โดยการประชุมครั้งนี้จะเน้นการดำเนินงานทางด้านการพัฒนากำลังคนและการวิจัยเป็นหลัก ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2565) มูลนิธิฯ ได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยชั้นนำของโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมปฏิบัติการวิจัย ตัวอย่างเช่น

    • โครงการความร่วมมือไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯ เป็นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ งานวิจัย Education & Outreach และงานวิศวกรรมศาสตร์ ความร่วมมือดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศไทยทางด้านการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศ การพัฒนากำลังคนในแง่ของการศึกษาเรียนรู้ที่บูรณาการร่วมกับงานวิจัยขั้นแนวหน้าในระดับสากล และความก้าวหน้าทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแบบไร้ขีดจำกัด

     • โครงการความร่วมมือไทย – สิงคโปร์เรื่องนาฬิกาอะตอมเพื่อพัฒนากำลังคนและการวิจัยพัฒนาตามพระราชดำริฯ เป็นความร่วมมือด้านการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม ระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสองประเทศจะร่วมกันวิจัยและพัฒนานาฬิกาอะตอมเพื่อใช้เป็นนิยามของหน่วยวินาทีในอนาคตของประเทศไทย สิ่งที่ประเทศไทยได้รับ คือ การกำหนดนิยามของหน่วยวินาที งานวิจัยไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ และนาฬิกาอะตอมเชิงแสงจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศไทย ในด้านสื่อสาร (5G network) ระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Financial Technology) ระบบโครงข่ายพิกัดหมุดหลักฐานแห่งชาติ เป็นต้น

   ส่วนด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิฯ ได้ สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ครู และนักวิทยาศาสตร์ไทย ได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการศึกษาต่อในสถาบันวิจัย หรือสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือไทย GSI/FAIR ตามพระราชดำริฯ โครงการคัดเลือกนักศึกษาทุนพระราชทาน เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ณ สถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ เป็นต้น

   ภาพรวมของการดำเนินงานทั้ง 12 โครงการ จนถึงปี 2565 มีพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการในประเทศไทยประมาณ 40 หน่วยงาน และในประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 8 ประเทศ มากกว่า 30 โครงการ โดยมีผู้ได้รับการพัฒนา และ/หรือได้รับประโยชน์จากกิจกรรมของโครงการ ทั้งสิ้นรวมแล้วกว่า 2,100 คน