โครงการตามพระราชดำริฯ อื่นๆ

เครดิตโดย : NECTEC  NSTDA
link original : คลิก 

เมื่อ : วันที่ 14 มิ.ย. 2561
สถานที่ : โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดย : สวทช.

         เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 เวลา 16.00 น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลทราบความเป็นมาเรื่องการถวายเครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม และศัลยกรรมใบหน้าและศีรษะ เดนตีสแกนรุ่น 2.0 เพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
         เครื่อง CT scanner หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นั้นผู้ค้นพบเรื่องนี้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี พ.ศ. 2522 ส่วนการพัฒนาเครื่อง CT scanner เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ยังเป็นนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี พ.ศ.2534 สมัยนั้นสามารถพัฒนาอัลกอริทึมจนสามารถสร้างเครื่อง CT scanner ถ่ายภาพตัดขวางของหนูและกระต่ายสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถหาชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่พอสำหรับมนุษย์ได้ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2550 จึงเริ่มมีชิ้นส่วนระดับศีรษะของมนุษย์ออกจำหน่าย จึงได้เริ่มการวิจัยและพัฒนาอีกครั้งหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จนได้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม หรือ เดนตีสแกน สำเร็จนำไปติดตั้งเป็นเครื่องแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2554 เพื่อใช้ทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ ปัจจุบันเครื่องเดนตีสแกนมี 2 รุ่น คือรุ่น 1.1 ติดตั้งแล้วจำนวน 3 เครื่อง และรุ่น 2.0 ติดตั้งแล้วจำนวน 7 ครื่องรวมเป็น 10 เครื่อง ให้บริการผู้ป่วยมากกว่า 5,000 ครั้ง เครื่องเดนตีสแกนดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพเครื่องมือแพทย์) เรียบร้อยแล้ว
         สำหรับเครื่องที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชานั้น เป็นเครื่องเดนตีสแกนรุ่น 2.0 ซึ่งสวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เครื่องเดนตีสแกนนี้ได้รับการติดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 และนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าฟันคุด และการผ่าตัดบริเวณช่องปาก ขากรรไกร และใบหน้า รวมทั้งการใช้งานในด้านหู คอ จมูก (ENT) เช่น การตรวจดูความผิดปกติของไซนัส เป็นต้น ปัจจุบันโรงพยาบาลได้เปิดให้บริการในผู้ป่วยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 75 ราย
         สำหรับการให้บริการผู้ด้อยโอกาสผู้สูงอายุและคนพิการนั้น คณะวิจัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สวทช. และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำการฝังรากฟันเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย ให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียฟันทั้งปาก เป็นจำนวน 60 ราย ภายใต้ชื่อ "โครงการคืนความสุขในการบดเคี้ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และคนพิการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 (ระยะที่ 1)” โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมชมและให้ผู้ได้รับบริการได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ปัจจุบันได้เริ่มโครงการระยะที่ 2 ซึ่งได้รับงบประมาณบูรณาการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินการฝังรากฟันเทียมจำนวน 400 ราก ร่วมกับโรงพยาบาล 7 แห่ง ที่ได้ติดตั้งเครื่องเดนตีสแกนแล้ว ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 143 รากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ร่วมให้บริการในระยะที่ 2 นี้ด้วยได้ให้บริการผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุแล้ว จำนวน 11 ราย โดยทำการฝังรากฟันเทียมแล้วจำนวน 2 ราย และอยู่ระหว่างการวางแผนการรักษาอีก 9 ราย
         ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการให้ผลิตเครื่องเดนตีสแกนจำนวน 50 เครื่องเพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ 50 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ เพื่อโรงพยาบาลจะได้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สร้างเครือข่ายทันตแพทย์ และบุคลากรทางทันตกรรมให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมไทย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ขั้นสูงขึ้นในประเทศเพื่อลดการสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ

ดูเพิ่มเติมได้ที่ : คลิก

คลังภาพ : คลิก

เครดิตโดย : matichon online (มติชนออนไลน์)
link original :คลิก

เมื่อ : วันที่ 4 เม.ย. 2561
สถานที่ : ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
จัดโดย : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


        กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อความสัมพันธ์ทาง ด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ วท. ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เฝ้ารับเสด็จฯ

        นายสุวิทย์ กล่าวว่า วท.มีบทบาทและหน้าที่ในวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ มีความปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระมหา กรุณาธิคุณที่มีต่อความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างไทยและจีน ที่ทรงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนาจนเกิดความก้าวหน้าในหลายสาขา อาทิ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การจัดการทรัพยากรน้ำ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น โดยนิทรรศการประกอบด้วย ความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (Chinese Academy of Science: CAS) 4 ฉบับ, ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักวิจัย ผ่านกิจกรรมต่างๆ, ความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. กับ Institute of Computing Technology -Chinese Academy of Sciences ในด้านเทคโนโลยีการประมวลภาษาธรรมชาติและความหมาย และ Institute of Remote Sensing and Digital Earth (RADI) -Chinese Academy of Sciences ในด้านเทคโนโลยี Remote Sensing การสำรวจระยะไกล เพื่อต่อยอดงานวิจัย Application Ari-Map ของ สวทช., ความร่วมมือระหว่าง นาโนเทค สวทช.กับ The National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) สภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ, โครงการศูนย์วิจัยระบบรางร่วมไทย-จีน ดำเนินการโดย สวทช. จัดตั้งห้องปฏิบัติการจำลองและออกแบบระบบอาณัติสัญญาณและการสื่อสาร (Signaling and Communication Laboratory) และห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยการเรียนรู้การบริหาร และควบคุมระบบรถไฟ (Railway Teaching Platform)

        นายสุวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (CRRC-TISTR Jiont Railway Research Center) ให้บริการศูนย์ทดสอบหลักในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ นครราชสีมา เพื่อการออกแบบ ทดสอบ การเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ได้แก่ โครงการ National Space Exploration (NSE) ได้ร่วมกับ CAS จีน จัดสัมมนาเรื่องขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ และ The 1st Thailand Space Science & Exploration Forum เชิญนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนรู้ความรู้ด้านอวกาศซึ่งกันและกัน ร่วมถึงการศึกษาด้าน Space Objects/DEBRIS Monitoring and Management และ Remote Sensing Application for NortheasternThailand Water Resources Management Project ด้านอวกาศ และศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (ส.ภ.) ทำวิจัยและศึกษาเทคโนโลยีด้านอวกาศ และ Geo-Informatics ร่วมกับมหาวิทยาลัยอู๋ฮั่น ของจีน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ศึกษาด้านเทคโนโลยีภูมิอากาศ การจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ CAS และ The Institiue of Atmospheric Physics รวมถึงสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

        ทั้งนี้ ปัจจุบันมีความร่วมมือในเรื่องดาราศาสตร์ ระบบราง ดาวเทียม และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

เมื่อ : วันที่ 10 มี.ค. 2561
สถานที่ : ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
จัดโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


        มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ - สวทช.ร่วมกับ UCAS ประเทศจีน สนองพระราชดำริฯ จัดประชุมด้านนาโน ICT และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เสริมความเข้มแข็งตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0

        สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจัดการประชุม-สัมมนาความร่วมมือระหว่างไทยกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และฟิสิกส์พลังงานสูง ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference 2018: NAC2018) ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ รวมถึงพัฒนาบุคลากรของประเทศจีนและไทยโดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธาน พร้อมDr. Xie Yong, (เซี่ยะ หย่ง) Director of the UCASInternational Affairs Office, CAS, ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมงาน

        ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชดำริให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย โดย มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริฯ ร่วมกับสำนักงานก.พ. รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งของไทย ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (University of the Chinese Academy of Sciences: UCAS) และหน่วยงานวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) เพื่อส่งนักศึกษาไปเรียนในระดับปริญญาเอกที่ UCAS และส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ รวมถึงพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่าย

        สำหรับความร่วมมือที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโปรแกรมแปลภาษาไทยจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับ Institute of Computing Technology, CAS, การศึกษาวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กับ National Center for Nanoscience and Technology, CAS และการเข้าร่วมโครงการ Jiangmen Underground Neutrino Observatory (JUNO) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กับ Institute of High Energy Physics เป็นต้น

        ซึ่งการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 นี้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. จึงได้จัดการประชุม-สัมมนาความร่วมมือระหว่างไทยกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และฟิสิกส์พลังงานสูง ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และนำเสนอผลการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกัน สร้างองค์ความรู้เสริมความเข้มแข็งตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0

บรรยากาศ การลงนาม "ความร่วมมือ ไทย-จีน" ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนาความสัมพันธ์ไทย - จีน ครั้งที่ 10 เรื่อง "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน" ณ ห้องประชุมธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ราษฎร์บูรณะ

บรรยากาศภายในงาน "สัมมนาไทยจีน" ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนาความสัมพันธ์ไทย - จีน ครั้งที่ 10 เรื่อง "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน" ณ ห้องประชุมธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ราษฎร์บูรณะ

MOU

MOU UCAS&OCSC