TH  |  EN

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับเนคเทค สวทช. เสริมทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้เหล่าเยาวชนพิการทางการได้ยิน-บกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว
ด้วย KidBright AI Platform

(21 พฤศจิกายน 2566) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี :ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแสดงความยินดี การปิดหลักสูตรการอบรมเชิงฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KidBright AI Platform” ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2566 ให้แก่คณะครูและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 10 โรงเรียน

     ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ด้วยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และทโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำนักประสานงานโครงการตามพระ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการให้แก่คณะครูและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน 10 โรงเรียน

     “ตั้งแต่ปี 2561-2563 เนคเทค สวทช. สนับสนุนบอร์ด KidBright และสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อย ผลงานวิจัยของเนคเทค ให้แก่ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน
โค้ดดิ้ง พร้อมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐานจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright และกิจกรรมปี 2564 – 2565 มีการเรียนรู้เรื่องวิทยาการข้อมูล (Data Science) ผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright ซึ่งที่ผ่านมาครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนพิการและนำไปประกวดในเวทีต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนทั่วไปและได้รับรางวัลชนะเลิศ เช่น เวที Show & Share สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เป็นต้น”

 

 

     ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2566 ได้จัดกิจกรรมพัฒนาต่อยอดความรู้เรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยได้จัดอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ครูและนักเรียนพิการในโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 4-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝัง สวทช. จึงจัดอบรมเชิงเรื่อง “การพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KIidBright AI Platform” ครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครื่องมือ KidBright AI Platform ร่วมกับบอร์ด KidBright สำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ในการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม อันเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงงาน

 

 

     นอกจากนี้ครูผู้สอนสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไปขยายผลการจัดการ เรียนการสอนโค้ดดิ้ง พร้อมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด ตลอดจนการจัดการเรียนรู้เพื่อขยายผลความสามารถของ KidBright อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ร่วมกับการใช้จินตนาการของนักเรียนเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์โดยใช้แนวคิดและตรรกะการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์ ต่อไป

       สำหรับกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว นำทีมโดย ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัยอาวุโส พร้อมด้วยทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ซึ่ง ได้อบรมให้ความรู้และสอนการลงมือปฏิบัติเรื่องการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KidBright AI Platform  ให้กับเหล่าเยาวชน

 

      นอกจากนี้การอบรมยังมีการให้ความรู้เรื่อง รู้จักกับ BCG Economy Model และแนวคิดในการออกแบบโครงงานสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy Model  โดย นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู สวทช. กิจกรรมการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright AI ภายใต้หัวข้อ “BCG Economy Model” โดยอาจารย์จิระศักดิ์ สุวรรณโณ ที่ปรึกษาโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และอาจารย์อลิสา สุวรรณรัตน์ นักวิชาการอาวุโส สวทช. ซึ่งแต่ละกิจกรรมตลอด 4 วัน นักเรียนพิการและครู มีส่วนร่วมในกิจกรรมเป็นอย่างดี สามารถทำกิจกรรมและนำเสนอโครงงานได้อย่างเข้าใจ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมแก่ผู้เข้าอบรม และเป็นทักษะจำเป็นในโลกยุคศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนพิการให้สามารถรู้เท่าทันและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ทันกระแสโลกต่อไป

เครดิต : https://www.nstda.or.th/home/news_post/kidbright-ai-platform-2023/