TH  |  EN

นักวิจัยไทยเดินทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ พ.ศ.2566

ภาพนักวิจัย : ดร. สุจารี บุรีกุล (ซ้าย) และนายอานุภาพ พานิชผล (ขวา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ (Arctic Research Cruise) ร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) และศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์(กลาง) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในนักวิจัยไทยที่เคยเดินทางรวมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน Chinese National Antarctic Research Expedition ชื่อย่อ CHINARE ในปี 2557 และเป็นกรรมการในคณะภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกแห่งประเทศไทย

 
     เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ดร. สุจารี บุรีกุล อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ และนายอานุภาพ พานิชผล นักวิจัย สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ออกเดินทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ (Arctic Research Cruise) ร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) โดยเรือสำรวจ RV Xuelong 2 ระยะเวลาประมาณ 80 วัน ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2566

ภาพนักวิจัยเดินทางร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ (Arctic Research Cruise)

 
     โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามพระราชดำริฯ ที่ควรส่งเสริมให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งนักวิจัยทั้ง 2 ท่าน ได้เดินทางไปเพื่อศึกษาเรื่อง “ไมโครพลาสติกและชีวนิเวศจุลชีพที่เกี่ยวข้องและสะสมในไมโครไบโอมในมวลน้ำ ตะกอน และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอาร์กติก” และ “การหมุนเวียนสารอาหารและฟลักซ์คาร์บอนไดออกไซด์ : สัญญาณการตอบสนองทางชีวธรณีเคมีต่อการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรอาร์กติกในภาวะโลกร้อน” เพื่อขยายผลงานวิจัยที่ขั้วโลกเหนือของไทยที่ผ่านมาเมื่อ 5 ปีก่อน และยกระดับความก้าวหน้าของงานวิจัยและนักวิจัยไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบการศึกษาอื่นเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

ภาพนักวิจัยบน เรือสำรวจ RV Xuelong 2 ก่อนออกเดินทางร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ (Arctic Research Cruise)