ปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่เขตชนบทหรือพื้นที่ชายขอบทุรกันดารห่างไกล มีปัญหาและอุปสรรคหลายรูปแบบ อาทิเช่น รูปแบบการติดตั้งที่ซับซ้อนเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ทำให้การติดตั้งต้องใช้เวลานาน ปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ของระบบ กรณีติดตั้งแบบเปิดโล่งในอาคารเรียนหรือห้องพักมีความเสี่ยงที่เกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อตและกรดจากแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานหรือเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ปัญหาพฤติกรรมของผู้ใช้ที่ทำให้อุปกรณ์ของระบบเกิดความเสียหายอย่างเช่นการใช้ กระแสไฟฟ้าเกินเป็นเวลานานหรือนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กระแสสูงมาต่อใช้งาน ปัญหาจากสภาพแวดล้อม เช่น แมลง สัตว์ขนาดเล็ก ฝุ่น ความชื้น ซึ่งก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือระบบเสียหายได้เช่นกัน ปัญหาการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ในระบบเร็วกว่าเวลาอันควร เช่น แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรดมีอายุการใช้งานที่สั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อยครั้ง ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ไขซ่อมแซมหรือการบำรุงรักษาเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนใหม่และจากการเดินทางเข้าออกพื้นที่บ่อยครั้ง จากปัญหาที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการออกแบบระบบ การเลือกใช้อุปกรณ์ และการบริหารจัดการการใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลต่อประสิทธิภาพความยั่งยืนของระบบในระยะยาว
โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (กศน.), รร.ตชด. และ สพฐ.) ในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การดำเนินงานแบ่งเป็น ๓ ระยะนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน
- ระยะที่ ๑ ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๔ มีเป้าหมายเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังไฟฟ้าสูงสุด ๔๘๐ วัตต์ (Wp)
- ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘ ติดตั้งอุปกรณ์ทวนสัญญาณ (Repeater) สำหรับใช้งานระบบโทรมาตร (Telemetry)
- ระยะที่ ๓ ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ การออกแบบและพัฒนาระบบให้มีความสอดคล้องกับความต้องการด้านการใช้งาน เลือกใช้เทคโนโลยีเป็นระบบที่พึ่งพาตนเองได้
การดำเนินในปัจจุบันอยู่ในระยะที่ ๓.๑ ปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๘ โดยโครงการมุ่งเน้นที่จะพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้มีความทนทาน ติดตั้งระบบได้รวดเร็วและบำรุงรักษาน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในพื้นที่ป่าเขาทุรกันดารห่างไกล โดยคณะวิจัยได้ดำเนินการออกแบบ ติดตั้งอุปกรณ์และระบบของโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไอซีทีสำหรับชุมชนชายขอบในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดตาก โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน ๗,๙๗๕,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการขยายผล ๒ แห่ง คือ รร.ตชด.บ้านแม่จันทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก และศกร.ตชด.บ้านวะกะเลโค๊ะ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ครอบคลุม ระยะเวลา ๕ ปี (๒๕๖๓-๒๕๖๘) และในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมการลดความเหลื่อมล้ำสู่ “ความปกติใหม่” ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๑๗๘,๒๐๐.๐๐ บาท
องค์ประกอบ ๓ ส่วนหลัก ของไอซีทีสำหรับชุมชนชายในระยะที่ ๓ และ ๓.๑ ประกอบด้วย
๑) ระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานและโทรมาตร (Solar, Hydro, Wind, Generator)
๒) ระบบแอปพลิเคชัน (PC Computer, Notebook Computer, Tablet, TV, eLearning)
๓) ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (ระบบอินเทอร์เน็ตและระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่)
ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสามารถเรียนรู้โลกกว้างได้ไม่ต่างจากคนเมือง ในโครงการนี้จะมีการพัฒนาเครื่องมือและขยายผลการใช้งานต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดและแสดงผลค่าทางไฟฟ้าแบบไร้สายเพื่อช่วยควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งจะศึกษาวิเคราะห์การทำงาน สมรรถนะและการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์จากระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทนทานมากขึ้น บำรุงรักษาต่ำ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการออกแบบระบบอื่นหรืออ้างอิงในโครงการอื่นได้อีกด้วย
ผลการดำเนินงานโครงการเฉพาะส่วนของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานและโทรมาตร (Solar, Hydro, Wind, Generator) โครงการฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ขนาด ๕.๓ กิโลวัตต์ (kW) และระบบไอซีทีในโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ๓๔ กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน จำนวน ๒ แห่ง ในพื้นที่จังหวัดตาก และเริ่มเปิดระบบให้โรงเรียนได้ทดลองใช้งานระบบตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นมา
โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนบ้านแม่จันทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก
พื้นที่ตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจำนวน ๑๕ ไร่ เดิมเป็น รร.ปจว. ซึ่งหมวดตำรวจตระเวนชายแดน ที่ประจำที่ฐานปฏิบัติการบ้านแม่จันทะ จัดทำการสอนให้กับเด็กๆ เพื่อให้ความรู้ด้านภาษาไทย แต่ต่อมาฐานปฏิบัติการได้ย้ายไป จึงได้หยุดทำการเรียนการสอน และได้เริ่มเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้งเมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๖ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อนุมัติให้เป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดน บ้านวะกะเลโค๊ะ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ก่อตั้งขึ้นจากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงศึกษาแผนที่การศึกษา (School Map) ทรงพบว่าในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ยังมีพื้นที่หลายแห่งที่ยังไม่มีการจัดการศึกษาให้กับประชาชน ดังนั้นสำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจพื้นที่ในอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีการประชุมที่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๔ อำเภอเมือง จังหวัดตาก และได้กำหนดให้ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๔ รับผิดชอบจัดตั้งศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน ๒ แห่ง คือ บ้านเลผะสุคี และบ้านวะกะเลโค๊ะ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
จากการดำเนินพบว่าระบบผลิตไฟฟ้าสามารถสนับสนุนกระแสไฟฟ้าในกิจกรรมด้านการศึกษาและรองรับการใช้งานระบบ แอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์ทางการศึกษา ระบบสารสนเทศและอุปกรณ์เครือข่าย และระบบไฟฟ้าส่องสว่างที่อยู่ภายในห้องเรียนคอมพิวเตอร์และอาคารสุขศาลาพระราชทาน (ห้องพยาบาล) ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียน เยาวชน ครู เจ้าหน้าที่และชุมชนโดยรอบด้านต่าง ๆ เช่น สร้างโอกาสการเรียนรู้ เพิ่มความรู้ด้านภาษาไทย ส่งเสริมให้มีโอกาสเข้าถึงการรับการรักษาทางแพทย์ ลดอัตราการเสียชีวิต สร้างโอกาสเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี การสื่อสาร อินเทอร์เน็ต และพลังงานไฟฟ้า อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น