เกี่ยวกับโครงการ

กิจกรรม “KidBright for All :
โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ”
วันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี

หลักการและเหตุผล
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นฝ่ายเลขานุการและคณะทำงานของมูลนิธิฯ ริเริ่มการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยจัดอบรมการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ให้กับครูและนักเรียนที่มีีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน ๑๐ โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ขยายโอกาสให้ครูและนักเรียนมีบอร์ด KidBright ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคำนวณ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนพิการโดยเฉพาะนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีความยากลำบากในการเข้าใจการเขียนโค้ดที่ต้องใช้ภาษาที่ยุ่งยาก เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนภาษาไทย และเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก ดังนั้นการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งด้วยบอรด์ KidBright ซึ่งมีการออกแบบโปรแกรมควบคุมการสั่งงานบอร์ด KidBright ด้วยชุดคำสั่งแบบบล็อก เพียงลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อ ๆ กัน ก็สามารถแสดงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบนบอร์ด KidBright ได้ทันที ทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เกิดความเข้าใจจากภาพที่เห็นและสามารถต่อยอดที่จะไปเขียนโค้ดด้วยคำสั่งอื่นต่อไปได้และยังสามารถจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ สวทช. ดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright” ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KidBright
ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ จำนวน ๒๖ โรงเรียน (รวมโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ๑๐ โรงเรียน) โดย เนคเทค สวทช. สนับสนุนบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขยายผล จำนวน ๕๐ บอร์ดต่อโรงเรียน ทั้งนี้ได้นำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มาใช้ในการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน การใช้เซนเซอร์ต่าง ๆ และบอร์ดขยายความสามารถร่วมกับบอร์ด KidBright จนไปถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ซึ่งคณะครูที่เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปขยายผลจัดกิจกรรมการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนเพิ่มเติมในวงกว้างร่วมด้วย
 กิจกรรม “KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ” ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นเวทีการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๒๖ โรงเรียน ในการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ร่วมกับการใช้กระบวนความคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม มาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวตามจินตนาการของตนเองหรือทีม โดยมีการวางแผนการสร้างโครงงานอย่างมีระบบและขั้นตอนให้ทำงานตามเป้าหมาย จนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้น นับเป็นเวทีแรกที่จัดการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวของกลุ่มนักเรียนพิการโดยเฉพาะ ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ตลอดจนให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ในการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียน และได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่มีคุณค่าต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์
 ๑. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งในการบูรณาการกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม
ที่นำไปสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต
 ๒. เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการคิด การแก้ปัญหา ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการทำโครงงาน
 ๓. เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
 ๔. เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสอนโค้ดดิ้งและการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวให้แก่นักเรียนพิการ
กลุ่มเป้าหมาย
     ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว จำนวน ๒๖ โรงเรียนทั่วประเทศ ประมาณ ๒๐๐ คน
สถาที่จัดกิจกรรม
 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
คณะกรรมการพิจารณา
การประกวดโครงงานฯ รอบแรก วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เพื่อคัดเลือก ๘ ทีม เข้ารอบสุดท้าย แบ่งกรรมการพิจารณาเป็น ๒ ชุด ดังนี้
คณะกรรมการชุดที่ ๑
 ๑. ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัยอาวุโส เนคเทค สวทช.
 ๒. คุณกิตติคุณ สะอาด Senior Data Engineer บริษัท ทีดี ตะวันแดง กำจัด
 ๓. ผศ.ดร.ธีรวดี ถังคบุตร รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 ๔. ดร.มนธิดา สีตะธนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์
 ๕. อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.
คณะกรรมการชุดที่ ๒
 ๑. ดร.อภิชาติ อินทรพานิชย์ นักวิจัยอาวุโส เนคเทค สวทช.
 ๒. ผศ.ดร.ชยการ คีรีรัตน์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
 ๓. ผศ.ดร.พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 ๔. อาจารย์จิรัฐยา ไชยสาร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาในสถานศึกษาเฉพาะ
ความพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.
 ๕. อาจารย์พัชนี สหสิทธิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ฝ่ายมัธยมศึกษา
โรงเรียนราชินีบน

การประกวดโครงงานฯ รอบสุดท้าย วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ รายชื่อคณะกรรมการพิจารณามีดังนี้
 ๑. ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัยอาวุโส เนคเทค สวทช.
 ๒. คุณกิตติคุณ สะอาด Senior Data Engineer บริษัท ทีดี ตะวันแดง กำจัด
 ๓. ผศ.ดร.ธีรวดี ถังคบุตร รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 ๔. ดร.มนธิดา สีตะธนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์
 ๕. อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.
 ๖. ดร.อภิชาติ อินทรพานิชย์ นักวิจัยอาวุโส เนคเทค สวทช.
 ๗. ผศ.ดร.ชยการ คีรีรัตน์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
 ๘. ผศ.ดร.พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 ๙. อาจารย์จิรัฐยา ไชยสาร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาในสถานศึกษาเฉพาะ
ความพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.
 ๑๐. อาจารย์พัชนี สหสิทธิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ฝ่ายมัธยมศึกษา
โรงเรียนราชินี
 ๑๑. อาจารย์คงกฤช ปิตานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะครุศาสตร์และอาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ประเภทรางวัล
โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ที่เข้ารอบ ๘ ทีมสุดท้าย มีประเภทรางวัลดังนี้
 ๑. รางวัลที่ ๑ ถ้วยรางวัลชนะเลิศและเกียรติบัตร
 ๒. รางวัลที่ ๒ ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอับดับ ๑ และเกียรติบัตร
 ๓. รางวัลที่ ๓ ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอับดับ ๒ และเกียรติบัตร
 ๔. รางวัลชมเชย จำนวน ๕ รางวัล ถ้วยรางวัลชมเชยและเกียรติบัตร
สำหรับโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังด้วยบอร์ด KidBright ที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานในรอบแรกทุกทีม แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้านำเสนอผลงานในรอบ ๘ ทีมสุดท้าย จะได้รับเกียรติบัตรเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งมีการระบุระดับคะแนนของโครงงานออกเป็น ๓ ระดับ คือ คะแนนระดับเหรียญทอง คะแนนระดับเหรียญเงินและคะแนนระดับเหรียญทองแดง

ระเบียบวิธีและกติการการประกวดโครงงาน
ระเบียบการประกวดโครงงาน

  • จำนวนผู้เข้าประกวดใน ๑ ทีม ประกอบด้วย นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทีมละไม่เกิน ๔ คน และครูที่ปรึกษาทีมละไม่เกิน ๓ คน
  • โครงงานที่เข้าประกวดต้องใช้บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright และบอร์ดขยายความสามารถ iKB-1 ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright เท่านั้น ส่วนเซนเซอร์ต่าง ๆ หรืออุปกรณ์จัดทำโครงสร้างสามารถจัดหาเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม
  • ข้อมูลภาพและเสียงที่นำมาประกอบการจัดทำโครงงานฯ ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือหากได้รับอนุญาตควรอ้างอิงแหล่งที่มา ซึ่งกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ใด ๆ คณะกรรมการตัดสินจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
  • ให้คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

วิธีการประกวด

  • แบ่งการประกวดเป็น ๒ รอบ รอบแรกวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ทุกทีมที่ส่งโครงงานฯ เข้าร่วมประกวดนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา เพื่อคัดเลือกโครงงานฯ ๘ ทีม เข้านำเสนอในรอบตัดสินวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
  • เวลาที่ใช้ในการนำเสนอต่อคณะกรรมการไม่เกิน ๑๕ นาที (รวมเวลาคณะกรรมการซักถาม)
    (หมายเหตุ: กรรมการอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอ จำนวนรอบของการพิจารณาตัดสินได้ตามความเหมาะสม)
  • จัดทำรายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์และจัดทำวิดีโอนำเสนอผลงานความละเอียดระดับ Full HD ขึ้น YouTube และนำ URL ของวิดีโอ ส่งมาในระบบการส่งโครงงานที่ URL: https://bit.ly/3z7dUIN หรือแกน QR code ภายในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยมีรายละเอียดหัวข้อในการจัดทำรายงานโครงงานและวิดีโอนำเสนอผลงาน ดังนี้
  • ชื่อโครงงาน
  • ชื่อคณะผู้จัดทำ (นักเรียน)
  • ชื่อครูที่ปรึกษา
  • ที่มาและความสำคัญ
  • วัตถุประสงค์
  • กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้
  • ประโยชน์ที่ได้รับ
  • รายละเอียดสิ่งประดิษฐ์
  • วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
  • โครงสร้างและส่วนประกอบ
  • คุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์
  • วิธีการดำเนินงาน
  • ขั้นตอนและวิธีการออกแบบ
  • การจัดทำผังงาน (Flowchart)
  • การสร้างชุดคำสั่ง (แสดงภาพการเขียนโค้ดคำสั่งบนโปรแกรม KidBright IDE)
  • การประกอบชิ้นงานและโครงสร้าง
  • การทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน
  • ผลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน
  • สรุปผลและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาผลงานต่อไป
  • เอกสารอ้างอิง

ทั้งนี้ขอให้ใส่เสียงและคำบรรยายแทนภาษามือลงในวิดีโอนำเสนอโครงงานของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และจัดทำคำบรรยายแทนเสียงพูดลงในวิดีโอนำเสนอโครงงานของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว และขอให้อัปโหลดไฟล์รูปภาพต้นฉบับในรายงานโครงงานลงในระบบการส่งโครงงานด้วย

สามารถดูตัวอย่างการจัดทำรายงานโครงงานฯ และวิดีโอนำเสนอได้ที่
URL ตัวอย่างรายงานโครง: https://citly.me/RXWEx
URL ตัวอย่างวิดีโอนำเสนอผลงาน: https://youtu.be/FGNgT4ENMVw

   

  • จัดทำเล่มรายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ จำนวน ๑ เล่ม เพื่อนำมาประกอบการนำเสนอผลงานในวันประกวดโครงงาน
  • จัดทำโปสเตอร์ขนาด ๑ หน้ากระดาษ A4 สรุปข้อมูลโครงงาน สำหรับแจกให้กรรมการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันประกวดโครงงาน ควรมีข้อมูลจำเป็นดังนี้

(ตัวอย่างการจัดทำโปสเตอร์ที่ URL: https://citly.me/L0zuj)

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อโครงงาน

ภาพถ่ายผลงาน

ชื่อผู้ทำโครงงานทุกคน

ชื่อครูที่ปรึกษาโครงงาน

ชื่อโรงเรียน  จังหวัด

เนื้อหา

๑.     ที่มาและความสำคัญ

๒.     คุณสมบัติและหลักการทำงาน

๓.     ผลการทดสอบใช้งาน

๔.     สรุปผลและข้อเสนอแนะ

 

เกณฑ์การให้คะแนน

รายการ คะแนน
๑. ความสมบูรณ์ของโครงงาน ๒๐
๒. ความยากง่ายในการพัฒนา ๒๐
๓. ความคิดสร้างสรรค์ ๒๐
๔. ด้านประโยชน์ใช้งาน ๒๐
๕.  การนำเสนอ ๒๐
รวม ๑๐๐