TH  |  EN

โครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์
ให้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ความเป็นมาโครงการ

         สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการพระราชทานความช่วยเหลือโรงเรียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีพระราชกระแสรับสั่งว่าควรประสานงานกับหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่ โรงเรียนหลัก 67

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานงานกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) โครงการชลประทานอุดรธานี สำนักชลประทานที่ 5 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หน่วยงานด้านการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้ความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนหลัก 67 ต่อ โดย วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อช่วยเหลือการเรียนการสอนด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่ โรงเรียนหลัก 67 ระยะเวลาการดำนินงานจำนวน 3 ปี 2559 – 2561

ในการดำเนินงานฝ่ายเลขานุการโครงการฯ คาดว่าโรงเรียนหลัก 67 จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ได้อย่างยั่งยืน คือ

  • โรงเรียนมีห้องเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย สื่อ อุปกรณ์ ด้านการเรียนการสอนปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย
  • โรงเรียนมีหลักสูตร และคู่มือครูด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย
  • ครูสามารถออกแบบกิจกรรมด้านการทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนได้

ภาพห้องเรียนโดยทั่วไปของโรงเรียนหลัก 67

       

ภาพการเรียนการสอนในห้องคอมพิวเตอร์พระราชทาน (เรียนวิชาฟิสิกส์ เรื่องไฟฟ้า ผ่าน eDLTV)

ภาพการอบรมหลักสูตรพื้นฐานการใช้ห้องปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ (ครั้งที่ 1) จำนวน 4 วัน วันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 59
ณ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย มีคณะครูโรงเรียนหลัก 67 เข้าอบรมทั้งหมด 20 คน วิทยากรโดย สสวท. และ คณะครูแกนนำโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ. หนองคาย

ภาพกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย – ลาว ในงานประชุมวิชาการนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ณ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2559

   

ภาพกิจกรรม อบรมการประกอบหุ่นยนต์บีมวิ่งจับเส้น ให้แก่ คณะนักเรียน จาก โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์เวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยฝ่ายเลขานุการโครงการฯ วิทยากร: อาจารย์จิระศักดิ์ สุวรรณโณ

ในปี 2559 ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ ได้มีการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานที่กำหนดไว้ โดยมีการจัดประชุมร่วมไทย-ลาว ทั้งหมดไปแล้ว 5 ครั้งเพื่อกำหนดเป้าหมายโครงการฯ ระยะ 3 ปี (2559-60) ประกอบด้วย

1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ได้แก่

1.1 ดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเพฤษภาคม 2560

1.2 การสนับสนุน สื่อ หนังสือ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจำนวน 10 ชุด

2. ด้านหลักสูตร และกิจกรรมในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ จัดทำหลักสูตรและการออกแบบหลักสูตร การจัดพิมพ์เอกสารต้นแบบและเอกสารคู่มือสำหรับการอบรมครู โรงเรียนหลัก 67 จำนวน 2 ชุด

3. ด้านบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ จัดอบรมให้ความรู้ทางด้านด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ เรื่อง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (ม. ต้น) การเรียนการสอนวิชา ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา (ม. ปลาย) ให้แก่คณะครูโรงเรียนหลัก 67 จำนวน 2 หลักสูตร อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูของโรงเรียนทั้งสอง และติดตามตรวจเยี่ยมประเมินผลการดำเนินงาน ไปแล้วจำนวน 1 ครั้ง

ผลจากการติดตามการดำเนินงาน

ในการติดตาม ตรวจเยี่ยม กิจกรรมการเรียนการสอนด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนโรงเรียนหลัก ๖๗ แบ่งการจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล 3 รูปแบบ ได้แก่ สังเกตการสอนในห้องเรียน สัมภาษณ์ครู และสัมภาษณ์นักเรียน โดยผลจากการประเมิน พบว่าครูได้นำความรู้ที่ได้อบรมมาพัฒนาการเรียนการสอนอย่างตั้งใจ พยายามนำบทเรียนที่ได้รับจาการอบรมไปจัดกิจกรรมในห้องเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนด้านการทดลองวิทยาศาสตร์จริง ส่งผลให้นักเรียนมีความชอบ ความสนใจ และสร้างบรรยากาศในการเรียนได้ดี นักเรียนสามารถใช้อุปกรณ์ทดลองพื้นฐานส่วนใหญ่ใช้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้พบปัญหาในการดำเนินงาน ดังนี้

1. จำนวนนักเรียนต่อห้องเยอะเกินไป (70- 77 คน/ห้อง)

2.รูปแบบการสอน ครูยังสอนในลักษณะครูเป็นศูนย์กลาง

3. การสอนในห้องปฏิบัติการยังคาดวินัยการใช้ห้องปฏิบัติการ เช่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ฯลฯ โดยหลังจากการติดตาม ตรวจเยี่ยม คณะทำงานโครงการฯ ได้ให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้แก่คณะครูโรงเรียนหลัก 67 เป็นที่เรียบร้อยพร้อมนำปัญหามาพัฒนาหลักสูตรให้ความรู้ครูในการอบรมครั้งต่อไป เช่น การจัดการห้องเรียน เทคนิคการสอน ฯลฯ